ความสำคัญของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทย ควบคู่คุณธรรม สำนึกความเป็นไทย มีความรักและผูกพันต่อท้องถิ่น และนำชุมชนให้พัฒนาเข้มแข็งอย่างยั่งยืนโดยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ ซึ่งได้นิยามไว้ว่า เป็นคนดี เป็นผู้ที่คิดดี พูดดี และทำดี หมายถึง คิด พูด และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและสิ่งที่เป็นประโยชน์ท่าน มีทักษะชีวิต มีความชำนาญ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ปัญญาและเหตุผล ในการดำเนินชีวิต ผ่านกระบวนการฝึกทักษะการคิด ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะการตระหนักรู้ในตน ทักษะการเข้าใจผู้อื่น ทักษะการจัดการกับอารมณ์ และทักษะการจัดการกับความเครียด มีจิตสาธารณะ จิตที่คิดสร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำกรรมดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจดี และเจตนาดี คิดสร้างสรรค์ คือ คิดในทางที่ดี ไม่ทำลายบุคคล สังคม วัฒนธรรม ประเทศชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมดี คือ การกระทำ และคำพูดที่มาจากความคิดที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนพร้อมสำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน สามารถบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ในการเป็นไขปัญหาได้ เป็นบัณฑิตที่ดำรงตนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีคุณธรรมจริยธรรมยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น สังคม ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และธรรมชาติ ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยและสังคมโลก
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้ตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนทางสังคมจึงได้ดำเนินการปรับปรุงหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยให้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ จนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และสามารถติดตามความก้าวหน้าในสาขานั้นได้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีประสิทธิภาพสูงสุด ตรงตามวัตถุประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในปัจจุบัน และอีกทั้งเนื้อหารายวิชาหมวดศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยอยู่ในรูปแบบบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 กับการเปลี่ยนแปลง มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการปรับปรุงหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567 ขึ้น โดยเป็นการจัดทำในรูปแบบ Outcomes Base Education (OBE) และมีการสอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในทุกภาคส่วนและนำความคิดเห็นนั้นมาจัดทำผลลัพธ์การเรียนที่คาดหวัง และกำหนดรายวิชาต่อไป